พลังงานทดแทน (Alternative Energy)
ในที่นี้หมายถึงพลังงานใดๆที่จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทดแทนแหล่งพลังงาน ซึ่งมีการสะสมตามธรรมชาติและใช้หมดไป (เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ยูเรเนียม ฯ ) พลังงานทดแทนภายในประเทศซึ่งมีความเป็นไปได้ในการนำมาใช้ผลิตไฟฟ้ามีอาทิ เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม ความร้อนใต้พิภพ น้ำ พืช วัสดุเหลือใช้จากการเกษตร ขยะ ฯ เนื่องจากพลังงานทดแทนดังกล่าวมีลักษณะ กระจายอยู่ตามธรรมชาติและไม่มีความสม่ำเสมอ การลงทุนเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ผลิตไฟฟ้าจึงสูงกว่าการนำมาใช้ประโยชน์ จากแหล่งประเภทน้ำมัน ถ่านหิน ฯลฯ
พลังงานจากแสงอาทิตย์
ประเทศไทยตั้งอยู่บริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรจึงได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ ในเกณฑ์สูงพลังงานโดยเฉลี่ยซึ่งรับได้ทั่วประเทศประมาณ4 ถึง 4.5 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อวัน ประกอบด้วยพลังงานจากรังสีตรง (Direct Radiation) ประมาณร้อยละห้าสิบ ส่วนที่เหลือเป็นพลังงานรังสีกระจาย (Diffused Radiation) ซึ่งเกิดจากละอองน้ำในบรรยากาศ (เมฆ) ซึ่งมีปริมาณสูงกว่าบริเวณที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรออกไปทั้งแนวเหนือ - ใต้
พลังงานลม
พลังงานลมในภูมิภาคนี้ของโลกจัดอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวฝั่งทะเลอันดามันและด้านทะเลจีน (อ่าวไทย) มีพลังงานลมที่อาจนำมาใช้ประโยชน์ในลักษณะพลังงานกล (กังหันสูบน้ำ กังหันผลิตไฟฟ้า) ได้ความเข้มพลังงานลมที่ประเมินไว้ได้อยู่ระหว่าง 20 ถึง 50 วัตต์ต่อตารางเมตร จากมหาสมุทรอินเดียทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ในระหว่างฤดูมรสุม และจากทางประเทศจีนทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในระหว่างฤดูหนาว
พลังงานความร้อนใต้พิภพ
มีปรากฎการณ์ตามธรรมชาติในลักษณะน้ำพุร้อนกว่าหกสิบแห่งตามแนวเหนือ-ใต้แถบชายแดนตะวันตกของประเทศไทย(แนวเทือกเขาตะนาวศรี) สันนิษฐานว่าจะเป็นแหล่งประเภทเดียวกันกับที่แคว้นยูนานในประเทศจีนตอนใต้ เนื่องจากอยู่ในแนวซ้อนของแผ่นทวีปคู่เดียวกัน (Indian Plate ซึ่งมุดลงใต้ Chinese Plate และเกิดแรงดันในลักษณะ Back Arch) จัดอยู่ในแหล่งขนาดเล็กถึงปานกลาง และคาดว่าสามารถให้พลังงานกับโรงไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 50 เมกะวัตต์
การสำรวจภาคพื้นดิน(Reconnaissance Survey)
ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 สรุปได้ว่าจาก 5 แห่งแรก (อยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย ) 2 แห่ง คือ ที่ อำเภอฝางและอำเภอ สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ควรได้รับการสำรวจโดยละเอียดต่อไปและขณะนี้กำลังดำเนินการสำรวจธรณีฟิสิกส์ (รวมถึงการเจาะสำรวจ) ที่แหล่งทั้งสองไปพร้อมๆกัน คาดว่าจะเป็นแหล่งกักเก็บอุณหภูมิปานกลาง (100-200 องศาเซลเซียส)คล้ายคลึงกับแหล่ง ของประเทศจีนที่แคว้นยูนาน ซึ่งได้ติดตั้งโรงไฟฟ้าขนาด 2 x 5 เมกะวัตต์แล้ว ประมาณการไว้ว่าจะสามารถสรุปผลการสำรวจได้ภายในปี พ.ศ. 2531 - 2532 การสำรวจดังกล่าวแล้วนี้ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ของรัฐบาลด้วย
โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมชนิดหม้อน้ำแบบ Unfired เป็นชนิดที่ไม่มีการใช้เชื้อเพลิงเพื่อการเผาไหม้ในหม้อน้ำ แต่ใช้ไอเสียจากกังหันก๊าซ เพียงอย่างเดียวโรงไฟฟ้าประเภทนี้กำลังผลิประมาณ 70 % จะเป็นกำลังผลิตจากเครื่องกังหันก๊าซและอีกประมาณ 30% จะเป็นกำลังผลิตจากเครื่องกังหันไอน้ำ
พลังงานจากชีวมวล
โดยเหตุที่ประเทศไทยทำการเกษตรอย่างกว้างขวางวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น แกลบ ขี้เลื่อย ชานอ้อย กากมะพร้าว ฯ ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก (เทียบได้น้ำมันดิบปีละไม่น้อยกว่า 6,500 ล้านลิตร) ก็ควรจะใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้ในกรณีของโรงเลื่อย โรงสี โรงน้ำตาล ฯ ขนาดใหญ่ อาจจะยินยอมให้จ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าต่างๆในประเทศในลักษณะของการผลิตร่วม (Co-generation) ซึ่งมีใช้อยู่แล้วหลายแห่งในต่างประเทศโดยวิธีดังกล่าวแล้วจะช่วยให้สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานในประเทศสำหรับส่วนรวมได้มากยิ่งขึ้นทั้งนี้อาจจะรวมถึงการใช้ไม้ฟืนจากโครงการปลูกไม้โตเร็วในพื้นที่นับล้านไร่ในกรณีที่รัฐบาลจำเป็นต้องลดปริมาณการปลูกมันสำปะหลัง อ้อย ฯ เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวทางด้านการตลาดของพืชทั้งสองชนิด อนึ่ง สำหรับผลิตผลจากชีวมวลในลักษณะอื่นที่ยังใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ เช่น แอลกฮอล์ จากมันสำปะหลัง ก๊าซจากฟืน(Gasifier) ก๊าซจากการหมักเศษวัสดุเหลือจากการเกษตร(Bio Gas) ขยะ ฯ หากมีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ก็อาจนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าได้เช่นกัน
แหล่งอ้างอิง
http://prinfo.egat.co.th/po.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น